สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกให้พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการชิปหรือหน่วยประมวลผลเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นขาดแคลน
ด้วยความที่โรงงานผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตชั้นสูง
นั่นจึงทำให้ในปี 2009 AMD ตัดสินใจแยกส่วนโรงงานผลิตของตัวเองมาตั้งเป็นบริษัทใหม่อีกบริษัทหนึ่งที่มีชื่อว่า The Foundry Company และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “GlobalFoundries” ในเวลาต่อมา
บริษัทแห่งนี้ AMD ได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุน Advanced Technology Investment Company หรือ ATIC
ซึ่งเป็นของรัฐบาลอาบูดาบี โดยจะแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นเป็น
อย่างไรก็ตาม GlobalFoundries ยังรับหน้าที่ดำเนินการผลิตให้กับ AMD ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลัก
และรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่ออกแบบชิปไว้แล้วแต่ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง
ทำให้ AMD สามารถโฟกัสไปที่การออกแบบชิปเพียงอย่างเดียว
เพื่อที่จะแข่งขันกับ Intel ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมากังวลในส่วนของการผลิต
ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ ก็เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างระหว่าง AMD และ Intel
เนื่องจาก Intel มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองและเพื่อตัวเองเท่านั้น
โดยไม่ได้รับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น
ต่อมา ATIC ก็ได้เข้าซื้อกิจการของ Chartered Semiconductor ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสิงคโปร์ ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นผู้ผลิตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และได้นำบริษัทแห่งนี้ควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของ GlobalFoundries
จากการควบรวมนี้เอง ก็ได้ทำให้ GlobalFoundries มีฐานลูกค้าทั่วโลกกว่า 150 รายจากหลากหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา GlobalFoundries เป็นผู้ผลิตหลักให้กับ AMD มาโดยตลอด
แต่จริง ๆ แล้ว AMD ก็ไม่ได้พึ่งพาเพียง GlobalFoundries เท่านั้น
เพราะ AMD ก็ได้เข้าซื้อ ATI Technologies ผู้พัฒนาชิปการ์ดจอคอมพิวเตอร์และชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปี 2006
ซึ่งแต่เดิม ATI ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอีกรายหนึ่ง
ก็คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
จึงทำให้ภายหลังการควบรวม AMD ได้รู้จักกับ TSMC
และ AMD ได้วางให้ TSMC เป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทนอกเหนือจาก GlobalFoundries
จนกระทั่งในปี 2014 AMD ที่นำโดย CEO หญิงไฟแรงอย่าง Lisa Su
มีความต้องการที่จะผลิต CPU ด้วยเทคโนโลยีที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าของ Intel
โดย AMD ต้องการเปิดตัว CPU ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับ 14 นาโนเมตรในปี 2015
ทำให้ GlobalFoundries ได้ร่วมมือกับ Samsung ในการผลิตชิปด้วยเทคโนโลยีขนาด 14 นาโนเมตร ซึ่ง Samsung เป็นผู้พัฒนาขึ้นมา
ด้วยความร่วมมือกับ Samsung นี้เอง ทำให้ GlobalFoundries สามารถส่งมอบ CPU ให้กับ AMD ได้ตามกำหนด
จากความสำเร็จของเทคโนโลยีการผลิตระดับ 14 นาโนเมตรและต่อยอดไปเป็น 12 นาโนเมตร ซึ่งมีดีทั้งประสิทธิภาพในการใช้งานและการผลิต ก็ทำให้ GlobalFoundries สามารถรักษาการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ให้กับ AMD ไว้ได้
แต่แล้วการแข่งขันกันลดขนาดของเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต CPU
ระหว่าง AMD และ Intel ก็สร้างความลำบากให้กับผู้ผลิตชิปในตลาด..
เพราะทุกครั้งที่มีการปรับลดขนาดของเทคโนโลยีลง
โรงงานผลิตก็จำเป็นต้องปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
โดยเฉพาะเครื่องจักร ที่ใช้ในการผลิตที่มีราคาสูงมากและเครื่องจักรที่มีขายก็มีเพียงเครื่องจักรของ ASML เพียงรายเดียวบนโลกที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตซึ่งสามารถผลิตได้ถึงระดับ 5 นาโนเมตร
อีกประเด็นหนึ่งคือ ถึงแม้จะมีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขนาดไหน
แต่การปรับลดขนาดทรานซิสเตอร์ของชิปลง ก็จะทำให้ “Production Yield Rate”
หรือก็คือผลตอบแทนต่อการผลิตที่ได้ก็ต่ำลงไปด้วย
ทั้งค่าใช้จ่ายในการวางระบบและจัดหาเทคโนโลยีใหม่ รวมถึง Production Yield Rate ที่ต่ำลง
ก็ได้ส่งผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้กำไรของผู้ผลิตน้อยลงตามไปด้วย
และจากการที่ AMD ใช้การลดขนาดของเทคโนโลยีในการผลิตเป็นนโยบายหลักในการแข่งขันกับ Intel และได้รับผลตอบรับที่ดี
ทำให้ไม่นานนัก AMD ก็เริ่มพัฒนาชิปตัวใหม่ที่ใช้การผลิตระดับ 7 นาโนเมตร
และพาร์ตเนอร์คู่บุญอย่าง GlobalFoundries ก็ถูกวางตัวให้เป็นผู้ผลิตหลักของ AMD
แม้ในตอนแรก GlobalFoundries จะตอบรับต่อแนวทางดังกล่าว
และพัฒนาเทคโนโลยี 7 นาโนเมตรอยู่เป็นเวลานานถึง 2 ปีด้วยกัน
แต่แล้วในปี 2018 GlobalFoundries ก็ประกาศยกเลิกการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระดับ 7 นาโนเมตร และพุ่งเป้าไปที่การผลิตในระดับ 12 และ 14 นาโนเมตร ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพที่สูงเพียงพอและถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
ในขณะที่เทคโนโลยี 7 นาโนเมตรนั้น แม้ AMD จะต้องการมากแค่ไหน
แต่ก็เป็นที่นิยมแค่ในตลาดหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าลูกค้ามีเพียงหยิบมือ
เมื่อเป็นเช่นนี้ AMD จึงได้หันไปพึ่งพา TSMC ที่มีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้วจากการผลิตหน่วยประมวลผลให้กับสินค้าของ Apple
และจุดนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของ GlobalFoundries ในการเป็นผู้ผลิตเบอร์หนึ่งให้กับ AMD..
และนั่นหมายความว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา GlobalFoundries จะต้องเสียรายได้ทั้งหมดจากการผลิต ให้แก่ AMD แต่ก็แลกกับการไม่ต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการอัปเกรดเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมชิปทั่วโลกจะได้แรงหนุนจากสถานการณ์โควิด 19 จนทำให้ชิปขาดตลาด แต่ผลประกอบการของ GlobalFoundries กลับขาดทุนมาตลอด
สาเหตุที่บริษัทยังคงขาดทุน เนื่องจากลูกค้าของ GlobalFoundries
ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งถึงแม้ว่าชิปที่ผลิตจะไม่มีความซับซ้อน
แต่ก็มีราคาที่ถูกกว่าชิปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และมีความยากในการปรับราคาแม้ชิปจะขาดตลาดก็ตาม
อีกประเด็นหนึ่งคือโรงงานผลิตชิป มักจะต้องอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา
ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์มีระยะเวลาที่สั้น ค่าเสื่อมราคาจึงสูง
ถึงขนาดที่ว่าหากจะให้การผลิตถึงจุดคุ้มทุน โรงงานต้องเดินเครื่องผลิตอย่างน้อย 90% ของกำลังการผลิตเลยทีเดียว แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา GlobalFoundries กลับทำได้เพียง 70 ถึง 84% เท่านั้น
ก็เป็นที่น่าติดตามว่าท่ามกลางปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก GlobalFoundries ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก TSMC และ Samsung จะสามารถกลับมามีกำไรได้หรือไม่