ทีเอสเอ็มซีจี้รัฐบาลปกป้องอุตฯชิพไต้หวัน โดยผู้ก่อตั้งทีเอสเอ็มซี ระบุว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ ที่ทำให้ไต้หวันมีความสามารถด้านการแข่งขันในเวทีโลก
“มอริส จาง”ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค (ทีเอสเอ็มซี)บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิพที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก เรียกร้องให้รัฐบาลไทเปปกป้องความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิพของประเทศในช่วงที่ทั้งสหรัฐและจีนต่างพยายามที่จะผลิตชิพใช้เองโดยไม่พึ่งพาชิพของบริษัทต่างชาติ จาง ซึ่งก่อตั้งทีเอสเอ็มซี เมื่อปี 2530 ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งไต้หวัน กล่าวว่า "การผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ทำให้ไต้หวันมีความสามารถด้านการแข่งขันในเวทีโลก การสร้างอุตสาหกรรมชิพให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะรักษาความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้ให้ได้ตลอดไป ผมจึงเรียกร้องให้รัฐบาล สังคมและทีเอสเอ็มซี ร่วมกันปกป้องอุตสาหกรรมนี้" เมื่อไม่กี่วันก่อน ทีเอสเอ็มซี ยอมรับว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ และ จีน อาจส่งผลกระทบกับการเข้าถึงการผลิตที่สำคัญ รวมถึงส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเซมิคอนเตอร์ในอนาคตหลังจากรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงกดดันจีนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีเอสเอ็มซี กล่าวว่าความตึงเครียดทางการค้า และ มาตรการป้องกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองประเทศอาจส่งผลกระทบกับราคาสินค้า และอาจทำให้สินค้าเซมิคอนดักเตอร์หลายรายการขาดตลาดและไม่มีจำหน่าย โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการปฎิเสธการออกใบอนุญาตส่งออกสินค้าตามมาตรการควบคุมการส่งออก รวมถึงการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศ
ซึ่งมาตรการนี้อาจส่งผลกระทบกับบริษัทต่างชาติในจีนรวมถึงทีเอสเอ็มซีในอนาคต อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ถูกใช้ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่ขีปนาวุธ รถยนต์ไปจนถึงสมาร์ทโฟน และเมื่อปีที่แล้ว จีนพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศหลังสหรัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดในการส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตชิพไปยังประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ความเห็นของจางมีขึ้นในช่วงที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีนพยายามที่จะหันมาพึ่งพาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐ ได้ผลักดันแผนแก้ปัญหาชิปคอมพิวเตอร์ขาดตลาด ผ่านโครงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจะดึงงบฯจากส่วนนี้จำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์มาใช้ในการวิจัยและพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐและสร้างความมั่นคงต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตชิพโดยมีผู้บริหารของ 19 บริษัทเข้าร่วม รวมทั้ง กูเกิล เจเนรัลมอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฟอร์ด อินเทล และนอร์ธรัพ กรัมแมน ส่วนสหภาพยุโรป (อียู)ให้คำมั่นในช่วงต้นปีว่าจะให้บริษัทในท้องถิ่นผลิตชิพใช้เองให้ได้ประมาณ 20%
เมื่อประเมินจุดแข็งของผู้ท้าทายทั้ง2ประเทศ จาง มีความเห็นว่า "สหรัฐมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่มากกว่าในแง่ของแหล่งทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่จำเป็นในการสร้างอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงที่ดิน น้ำและไฟฟ้า แต่สหรัฐก็ยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางเช่น วิศวกร ช่างเทคนิค และแรงงานฝ่ายผลิตที่พร้อมจะอุทิศตน รวมทั้งขาดศักยภาพที่จะเคลื่อนย้ายบุคลากรฝ่ายผลิตจำนวนมาก " จาง ยังบอกด้วยว่า ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตชิพในสหรัฐสูงกว่าในไต้หวัน การให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางจะไม่มีวันเพียงพอที่จะชดเชยจุดอ่อนด้านการแข่งขันในระยะยาวในการผลิตชิพในสหรัฐได้ ขณะที่จีน จางเห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งใช้จ่ายเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมชิพในประเทศตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ศักยภาพการผลิตชิพของจีนยังตามหลังทีเอสเอ็มซีอย่างน้อย 5ปี ส่วนการดีไซน์ชิพนั้น จางมองว่าจีนยังตามหลังไต้หวันอยู่ประมาณปีหรือสองปี “จีนยังไม่ใช่คู่แข่งของเรา คู่แข่งใหญสุดของทีเอสเอ็มซีคือซัมซุงของเกาหลีใต้ ผู้ผลิตชิพความจำรายใหญ่สุดของโลก”ผู้ก่อตั้งทีเอสเอ็มซี กล่าว ต้นปีที่แล้ว จาง อธิบายการระบาดของโรคโควิด-19ว่าเป็น“สงคราม”รูปแบบใหม่พร้อมทั้งทำนายว่าการระบาดของโรคนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนและสร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่แก่เศรษฐกิจโลก และช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จางก็อธิบายว่าทีเอสเอ็มซีว่าเป็นเหมือนทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่บรรดาผู้เล่นในทุกภาคอุตสาหกรรมหรือแม้แต่ประเทศต่างๆล้วนต้องการที่จะมีไว้