เจ้าของโทรศัพท์ไอโฟน 4 เอส ที่เพิ่งถอยออกมาจากร้านจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ ต้องเตรียมทำใจไว้เลยว่าในเวลาไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้านี้ จะมีไอโฟน 5 ออกจำหน่ายในตลาดแล้ว ทำให้โทรศัพท์ราคาสองหมื่นกว่าบาทกลายเป็น "ของตกรุ่น" ภายในช่วงไม่เกิน 1 ปี
ความรู้สึกดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับเจ้าของผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และ ไอทีอีกหลายชนิด ตั้งแต่ไอแพด 2 จนถึงโน้ตบุ๊กขนาดใหญ่เทอะทะที่จะถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งเร็ว แรง บาง และกินไฟน้อยกว่า
ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอทีนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่สั้นลง ในช่วง 2 ทศวรรษก่อน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นผู้เปลี่ยนทิศทางการตลาด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Game Changer" นั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานับปี หรือหลายๆ ปี แต่ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตชิพซิลิกอนที่ก้าว (ล้ำ) หน้าอุปสงค์ (ความต้องการของผู้บริโภค) ไปมาก ผสานกับเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีผู้ผลิตมากหน้าหลายตา ทำให้การเปลี่ยนแปลงทิศทางการตลาดโดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมานั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วนับเป็นเดือน หรืออาจจะเป็นสัปดาห์ในบางกรณี
ดังนั้น การตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ไอที หรือคอมพิวเตอร์มาใช้สักชิ้น ก็ต้องคิดคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ "คุ้มค่าเงิน" มากที่สุด เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสนองประโยชน์ให้แก่เราได้มากที่สุดตลอดเวลาที่เรายังใช้งานมันได้อยู่ มิเช่นนั้นจะเกิดความรู้สึก "ไม่คุ้ม" เพราะผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่นั้นเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดแทบจะทุก 6 เดือน ผู้ใช้ไอแพด 2 แท็บเล็ตยอดนิยมในตลาดเมืองไทยและตลาดโลกนั้นเตรียมควักกระเป๋าเงินอีกรอบเพื่อถอยไอแพด 3 ที่มีคุณสมบัติในการแสดงผลหน้าจอดีกว่า เพราะมีการคาดหมายว่าแอปเปิลจะเปลี่ยนหน้าจอแสดงผลของแท็บเล็ตยอดนิยมเป็นจอเรตินา ดิสเพลย์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นจอที่มีการแสดงผลได้สวยงามชัดเจนมากที่สุดในตลาดเวลานี้
ทั้งยังเชื่อว่าแอปเปิลจะเพิ่มพอร์ทการเชื่อมต่อของไอแพด 3 ให้รองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้นผ่านพอร์ทธันเดอร์โบลท์ (Thunderbolt) ที่มีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลดั่งสายฟ้าฟาด นั่นคือมีความเร็วสูงระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (เร็วกว่า พอร์ทยูเอสบี 3.0 ถึง 2 เท่า) เพื่อการรองรับภาพยนตร์ 3 มิติที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไอแพด 3 จะมีคุณสมบัติในการแสดงภาพ 3 มิติตามสมัยนิยมกับเขาด้วย
ขณะที่ ข้อมูลของไอโฟน 5 ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนมากนัก แต่เชื่อได้ว่า แอปเปิล ภายหลังยุค สตีฟ จ็อปส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล จากโรงรถเล็กๆ ในบ้าน จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินค้ายอดนิยมระดับโลกนั้น และได้ลาลับโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 คงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการผลิตสินค้าที่แตกต่างออกไปมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนปัจจุบัน นั้น เป็นศิษย์ก้นกุฏิที่จ็อปส์ปั้นมากับมือ
พูดถึง พอร์ท ธันเดอร์โบลท์ แล้วก็อดที่จะคิดถึงความเคลื่อนไหวของบริษัท อินเทล จำกัด ผู้ผลิตชิพหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) และชิพเซ็ต รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดไม่ได้ เพราะอินเทล เป็นผู้เล่นหลักในตลาดคอมพิวเตอร์พีซี โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์หน่วยเก็บข้อมูลสำรองโดยใช้ชิพหน่วยความจำ หรือเอสเอสดี ไดรฟ์ เพราะเมื่ออินเทลที่ครองตลาดซีพียูสำหรับพีซีและโน้ตบุ๊กเกินครึ่งตลาดโลก ขยับตัว คู่แข่ง และพันธมิตรทุกรายก็ต้องจับตามองเพื่อรับมือหรือจะร่วมเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ปลาอานนท์อย่างอินเทล ทำให้เกิดคลื่นกระเพื่อมในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที
ในปีนี้อินเทลได้เปิดตัวพระเอกดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง ซีพียู ตระกูล "แซนดี้ บริดจ์" สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ที่มีพระเอกตัวจริงอย่าง อินเทล คอร์ ไอ 7 เจนเนอเรชั่นที่สอง ตามมาด้วยน้องกลางอย่าง คอร์ ไอ5 น้องเล็ก ไอ 3 ที่ได้รับความนิยมในทุกตลาด ทั้งพีซี และโน้ตบุ๊ก
แต่แซนดี้ บริดจ์ กำลังจะถูกทดแทนด้วยซีพียูตระกูลใหม่ในชื่อ "ไอวี่ บริดจ์" หรือ อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 ซึ่งจะเป็นขุมพลังให้แก่อัลตร้าบุ๊กรุ่นถัดไป รวมถึงพีซีทั่วโลก โดยมีกำหนดเปิดตัวภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ซึ่งความโดดเด่นของซีพียูแห่งอนาคตของอินเทล อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีการผลิตชิพซีพียูขนาด 22 นาโนเมตรในการสร้างทรานซิสเตอร์ "ไทร เกต 3 มิติ" ที่เป็นซีพียูซึ่งมีโครงสร้าง 3 มิติรุ่นแรกของโลก และเป็นคำตอบต่อการผสมผสานกันอย่างลงตัวของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและอัตราการใช้พลังงานที่ลดลง
อินเทลได้เผยวิสัยทัศน์ด้วยว่าในปี 2555 ผู้บริโภคทั่วโลกจะได้พบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอที ที่ประหยัดพลังงาน มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และระบบ "คลาวด์" หรือแหล่งเก็บข้อมูล-โปรแกรมทำงานบนอินเทอร์เน็ตได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทั้งยังเชื่อว่าอุปกรณ์ไอทีที่จะทำหน้าที่ได้เพียงอย่างเดียวนั้นหมดยุคไปแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น อินเทลยังได้กำหนดมาตรฐานโน้ตบุ๊กยุคใหม่ในชื่อ "อัลตร้าบุ๊ก" ที่ต้องมีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน แต่มีพลังในการประมวลผลสูง มีน้ำหนักเบา และบาง ซึ่งเป็นเหตุผลของอินเทลในการพัฒนาซีพียู ตระกูล ไอวี่ บริดจ์ และชิพเซ็ตสำหรับซีพียูตระกูลนี้ออกมา รองรับโน้ตบุ๊กที่อินเทลเชื่อว่าจะเป็นตลาดใหม่ของโน้ตบุ๊ก โดยบริษัทวางตัวไว้ว่าอัลตร้าบุ๊ก จะต้องมีพลังในการประมวลผลสูงกว่า เน็ตบุ๊ก (ที่ใช้ซีพียูตระกูลอะตอมของอินเทล หรือฟิวชั่นของเอเอ็มดี) แต่ต้องประหยัดพลังงานได้เท่าๆ กัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นอัลตร้าบุ๊กจากผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เช่น อัสซุส เอชพี เลอโนโว ซัมซุง แอลจี ฯลฯ เริ่มออกเพ่นพ่านในตลาดบ้านเราบ้างแล้ว เช่น อัสซุส เซนบุ๊กยูเอ็กซ์ 21 หรือเลอโนโว ยู 300 เป็นต้น แต่ปัญหาที่สำคัญคืออัลตร้าบุ๊กยังมีราคาสูงกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปในตลาดอยู่มาก ทำให้การตัดสินใจซื้อเป็นไปได้ยากขึ้นกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป
แต่ด้วยแนวทางที่เป็นไปได้ในอนาคตที่ผู้ผลิตอัลตร้าบุ๊กจะเปลี่ยนมาใช้ฮาร์ดดิสก์แบบเอสเอสดี ที่เร็ว แรง และเชื่อถือได้กว่าฮาร์ดดิสก์ แบบจานแม่เหล็กหมุน อาจจะทำให้ผู้ใช้หันมาให้ความสนใจกับอัลตร้าบุ๊กมากยิ่งขึ้น จะด้วยเพราะเหตุใด โปรดติดตามอ่านฉบับหน้าครับ...