ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร ที่มีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 เราก็จะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ แห่งอนาคตกันอีก โดยจะมีเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลสำคัญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ในที่นี้จึงได้หยิบยก 5 เทคโนโลยีดิจิทัลกระแสแรงที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ มีอะไรบ้างมาดูกันเลย
1. Artificial Intelligence (AI)
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือระบบสมองจักรกลอัจฉริยะ) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มี ความสามารถหลากหลายและถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงสังคม และเศรษฐกิจอย่างมากในโลกอนาคต ซึ่งหลายประเทศต้องการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว
โดยประเทศใดที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทที่หลากหลาย ย่อมสร้างความได้เปรียบในหลายมิติทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีข้อกังวลสำคัญของเทคโนโลยี AI ที่ไม่อาจมองข้าม คือผลกระทบต่อตลาดแรงงาน หากธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ก็จะส่งผลให้แรงงานถูกลดบทบาทลง อย่างกรณีผลการสำรวจ Pew Research Center คาดว่าการนำหุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลมาใช้ จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 1 ใน 3 ของการจ้างพนักงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม BPO ในอินเดียและฟิลิปปินส์ และเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่พนักงานจำนวนมากภายใน ปี 2568 ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลฟิลิปปินส์เช่นกันในการสร้างสมดุลระหว่างการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ต้องการเป็น Hub ในอาเซียน กับการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อไม่ให้กระทบตลาดแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ
สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยี AI เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะระบบ Chatbot และ Robot Process Automation (RPA) ที่เป็นระบบงานที่องค์กรต่างๆ ในไทยนิยมนำมาใช้ ประกอบกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ข้อจำกัดในการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ การใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคาดว่าเทคโนโลยี AI อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวในอนาคต ดังนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวางนโยบายที่เหมาะสม ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการจัดเตรียมความพร้อมของบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และโลกยุคหลัง COVID-19 ต่อไป
2. การใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา การพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามาเติมเต็มความต้องการในอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 หุ่นยนต์ของบริษัท Keenon Robotics Co ได้ถูกใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งในจีน เพื่อใช้ทำหน้าที่จัดส่งอาหาร ยา และสิ่งของไปยังแผนกที่ถูกแยกออกไป ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมเครื่องที่อยู่ห่างไกล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ลดโอกาสการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดความจำเป็นในการใช้บุคลากร รวมถึงการใช้โดรนบินลาดตระเวนประชาชน และมีการเผยแพร่คลิปขณะลาดตระเวน โดยเตือนให้ประชาชนที่ไม่สวมหน้ากากให้กลับเข้าบ้านและล้างมือ พร้อมเตือนว่าการออกมานอกบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง พร้อมกันนั้นยังได้ใช้โดรนติดเครื่องกระจายเสียง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลรักษาตนเองเพื่อไม่ให้ป่วยอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ ก็นับว่ามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งมีการผลักดันภาคอุตสาหกรรมมีการร่วมมือเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาทิเช่น โครงการ 5G x UAV SANDBOX เป็นโครงการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้ทดสอบนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางความเพียบพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi โดยเปิดให้ภาคธุรกิจเข้าใช้พื้นที่ทั้งเอกชนไทยและต่างประเทศใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
ขณะเดียวกันนอกจากในระดับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ ยังเป็นกระแสของธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน อาทิ การพัฒนาโดรนในภาคเกษตร การใช้หุ่นยนต์ในงานด้านบริการ และความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพต่างชาติในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ เพื่อใช้ในกิจการที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานด้านกองทัพ งานเหมือง ซึ่งเทคโนโลยีในด้านนี้จะยิ่งทวีความสำคัญ และจะถูกนำมาใช้ในด้านธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์เทคโนโลยีกระแสแรงต่อเนื่อง
3. Cloud Computing
ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับ Cloud ที่ใช้ในการทำงานเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริการ I Cloud, Dropbox, Google Drive หรือ Microsoft One drive ซึ่งเหล่านี้คือบริการ Cloud ซึ่งเราใช้กันอย่างคุ้นเคย แต่อย่าเพิ่มคิดว่านั่นคือ Cloud Computing เนื่องจากมีความแตกต่างกัน เพราะ Cloud Computing เป็นบริการที่ให้เราใช้หรือเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากรได้ตามความต้องการในการใช้งาน และสามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้
ด้วยเหตุนี้ในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้ทำให้เกิดการใช้งาน Cloud Computing มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการ Work from home โดยในรายงาน Flexera 2020 State of the Cloud Report กว่า 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการใช้ Cloud ของพวกเขาสูงขึ้นกว่าที่เคยวางแผนเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาด และท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ที่ซึ่งพนักงานต้องทำงานจากที่บ้าน Cloud Computing ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าประโยชน์ของ Cloud จะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขยายได้ง่าย การเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ในทุกที่ทุกเวลา และการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง แต่ก็ยังมีประเด็นที่ผู้บริหารต้องไม่ลืมและให้ความสำคัญ ได้แก่ การจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล, ความซับซ้อนในการบริหารจัดการ, การต้องถูกผูกติดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง, ประสิทธิภาพ และความเร็วในการเข้าถึงระบบ
ซึ่งปัจจุบันองค์กรก็จะหันมาใช้โซลูชันการเข้ารหัสและปกป้องข้อมูลที่ล้ำสมัยมากขึ้น เพื่อให้ระบบ Cloud ขององค์กรปลอดภัยอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้องค์กร ยังจะเปิดรับเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง Edge พร้อมกับเริ่มนำเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ มาใช้เพื่อให้สามารถจัดการดูแลอีโคซิสเต็มของระบบ Cloud ที่สลับซับซ้อนให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้มีการคาดว่าธุรกิจ Cloud Computing จะมีส่วนแบ่งในซอฟต์แวร์ทั้งโลกอีก 50% และในอีก 10 ปี ส่วนแบ่งอาจไปถึง 90% เพราะคำว่า Cloud ไม่ใช่จำกัดเพียงบริการเก็บข้อมูล แต่เป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ใช้ Cloud เป็นฐานในการทำธุรกิจ การมาของ COVID-19 จะเร่งให้ธุรกิจโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะไปได้ไกล
ที่สำคัญ Cloud Computing ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ไกล ทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านของความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความปลอดภัย รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากอีกด้วย
4. เทคโนโลยี 5G & Internet of Things
มีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสถานีฐานสำหรับการให้บริการ 5G ถึง 6.5 ล้านสถานีทั่วโลก รองรับการให้บริการผู้ใช้งานได้มากถึง 2,800 ล้านคน ครอบคลุมจำนวนประชากรโลกถึง 58% และเทรนด์สุดท้ายที่น่าจับตามองก็คือ Global Digital Governance เมื่อเครือข่าย 5G แพร่หลายมากขึ้น ผู้คนและองค์กรธุรกิจใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณข้อมูลทั่วโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึง 180 เซตตะไบต์ (หรือ 180,000 ล้านเทระไบต์)
ทั้งนี้ความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับ 5G ได้รับการพัฒนาและใช้งานในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2020 แล้ว ซึ่ง 5G คือการเชื่อมต่อแห่งอนาคต ที่อุปกรณ์ทุกชนิดสามารถเชื่อมกันโดยผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เป็นส่วนที่มาคู่กันกับ Internet of Things (IoT) นั่นเอง
หลายปีมานี้เราได้ยินเรื่อง Internet of Things (IoT) จนถึงตอนนี้แทบจะเรียกว่าหลายอย่างกำลังจะเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง การใช้โดรนบินส่งของถึงบ้าน ทีวีอัจฉริยะ ผู้ช่วยส่วนบุคคลที่ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ และตู้เย็นที่สามารถสั่งซื้อนมมาเติมได้เอง
นั่นเพราะวันนี้เครือข่ายไร้สายแบบ 5G เกิดขึ้นจริงบนโลกแล้ว เป็นเพียงแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น อนาคตอันใกล้นี้ IoT จะกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของคน เพราะ 5G ต่างจากเครือข่ายไร้สายแบบ 4G ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ โดยเครือข่ายไร้สาย 5G คาดว่าจะพร้อมเปิดใช้งานในช่วงปี 2563 มีช่วงแบนด์วิดท์กว้าง ตอบสนองรวดเร็ว แถมสื่อสารลื่นไหลไม่สะดุด ซึ่งจะทำให้เครือข่ายไร้สายนี้สามารถรับมือกับการไหลบ่าของข้อมูลที่มาจากอุปกรณ์บ้านๆ ธรรมดาๆ ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากจะเชื่อมทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อที่รวดเร็วกว่าเดิมอีกด้วย เช่น ถ้าเราโหลดหนังคุณภาพสูงผ่าน 4G ต้องใช้เวลา 6 นาที แต่ 5G จะทำให้เราดาวน์โหลดหนังคุณภาพเดียวกันได้ภายใน 6 วินาทีเท่านั้น ! ซึ่งตอนนี้บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัทได้ผลิตอุปกรณ์รองรับ 5G ออกมาแล้ว และในปี 2021 เทคโนโลยี 5G และ IoT จะต้องถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างแน่นอน
5. Extended Reality (XR) – AR/VR/MR
Extended Realities (XR) หรือการสร้างโลกเสมือนแบบไร้ขีดจำกัด หมายถึงการรวมประสบการณ์ทางเทคโนโลยีโลกเสมือน อย่าง Augmented Reality (AR) ซึ่งหมายถึงการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับภาพจำลองเสมือนจริงให้อยู่ในภาพเดียวกัน หรือ Virtual Reality (VR) ซึ่งหมายถึงการจำลองภาพให้อยู่ในโลกเสมือนจริง โดยตัดขาดจากบริบทสภาพแวดล้อมจริง และสุดท้าย Mixed Reality (MR) หรือเรียกว่าความจริงผสม ผสมผสานระหว่าง AR กับ VR เข้าด้วยกัน แสดงออกเป็นการจำลองภาพ 3 มิติคล้ายโฮโลแกรม แต่สามารถโต้ตอบหรือตอบสนองวัตถุเสมือนได้แบบเรียลไทม์ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ Extended Realities (XR) ซึ่งเป็นรวมของเทคโนโลยีโลกเสมือนทั้งหมดนี้มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจริง เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่
AR และ VR สามารถนำไปดัดแปลงได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เข้ากับความต้องการในการใช้งาน โดยในโรงเรียนอาจจะมีการสร้างสื่อการสอนที่มีการตอบสนองได้ หรือการซื้อของออนไลน์ก็อาจจะมีการสร้างภาพ AR เพื่อเปรียบเทียบสินค้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น อีกหนึ่งอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากเทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ โดยการใช้ VR จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการศัลยกรรมทางไกล หรือวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงได้
และที่น่าจับตาเป็นพิเศษสำหรับภาคธุรกิจ คือการมาของ VR มีมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อาจจะเริ่มต้นจากเกมอย่างที่เรารู้กันดี แต่ตอนนี้มีการนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในด้านอื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์และในด้านการขาย เช่น ร้านขายเครื่องสำอาง ก็นำเทคโนโลยี VR มาใช้ให้ลูกค้าได้สามารถลองสีลิปสติกได้โดยที่ไม่ต้องทา หรือการลองเสื้อผ้า และการท่องเที่ยวผ่าน VR ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในยุค COVID-19 นี้อย่างแน่นอน