ทำไม ไต้หวัน จึงเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ /โดย ลงทุนแมน
สมาร์ตโฟน วิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ กำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันนี้
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ว่ามานั้นจะมีส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ชิป
ที่ทำหน้าที่ ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล
โดยที่ ชิป มีองค์ประกอบหลัก คือ สารกึ่งตัวนำหรือที่เรียกกันว่า เซมิคอนดักเตอร์
และถ้าหากพูดถึง ผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
เราก็คงต้องยกตำแหน่งนั้นให้กับ “ไต้หวัน”
แต่รู้ไหมว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป 60 ปีที่แล้ว ขนาดเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นเล็กกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว
- มูลค่า GDP ในปี 1960 ของไต้หวัน เท่ากับ 48,000 ล้านบาท
- มูลค่า GDP ในปี 1960 ของไทย เท่ากับ 83,000 ล้านบาท
ในช่วงนั้น อุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวัน ยังคงเป็นการรับจ้างผลิต ที่เน้นการใช้แรงงานสูง
แต่จุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของไต้หวัน ก็เกิดขึ้นในช่วงปี 1986-2000
ในช่วง 15 ปีนั้น รัฐบาลไต้หวันต้องการเสริมสร้างความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ
ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะสินค้าไอที
เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของไต้หวัน
และหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ถูกผลักดัน ก็คือ “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”
ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ หลักๆ ก็คือการผลิต ชิป หรือ ชิปเซต
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล
ที่เปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น สมาร์ตโฟน หรือ คอมพิวเตอร์
การจะได้มาซึ่งชิปที่มีประสิทธิภาพสูง ก็ต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงก่อน
ซึ่งการจะมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ก็หมายความว่า ไต้หวัน ต้องทุ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงมากตามไปด้วย
สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำในตอนนั้นคือ
มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อก่อตั้ง "สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI)
ซึ่ง ITRI มีการร่วมทุนกับบริษัทฟิลิปส์ของเนเธอร์แลนด์
ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปมาที่ไต้หวัน
จนทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปเป็นของตัวเอง
หลังจากนั้น ในปี 1987 ก็ได้เกิด บริษัท “TSMC”
หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company
บริษัทผลิตชิป ที่เป็นเสมือนหัวใจของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน
หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันระหว่างปี 1986-2000 เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5%
และถ้านับตั้งแต่ปี 1960-2019
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ของคนไต้หวัน เพิ่มขึ้นถึง 167 เท่า
จากประมาณ 4,500 บาท เป็น 750,000 บาท
ทำให้ไต้หวันในตอนนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงไปเรียบร้อยแล้ว
โดยในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
สร้างรายได้ให้กับไต้หวันสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็น 16% ของมูลค่า GDP
และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
ที่เป็นผลพวงจากการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาในอดีตของรัฐบาลไต้หวัน
ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็น ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ที่ตอนนี้ครองส่วนแบ่งในตลาดชิปโลก กว่า 55.6%
โดยในปีล่าสุด รายได้ของ TSMC สูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท กำไร 533,000 ล้านบาท
และมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 17.6 ล้านล้านบาท
และในทุกวันนี้ รัฐบาลไต้หวันก็ยังคงให้ความสำคัญในการทุ่มงบวิจัยและพัฒนาอย่างมาก
อย่างเช่นในปี 2018 งบวิจัยและพัฒนาของไต้หวัน มีสัดส่วนกว่า 3.4% ต่อมูลค่า GDP ของไต้หวัน
ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
สรุปแล้วก็คือ ที่ไต้หวันสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้
ปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก คือการกำหนดชัดเจนว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมนี้
และทุ่มงบการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง และผลักดันศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ถึงขีดสุด