สำหรับคนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในข่าวสำคัญที่หลายคนสนใจในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมา คือข่าวการเปิดตัว Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งใหม่ล่าสุดของ Elon Musk เจ้าพ่อด้านเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีทั้ง Tesla, SpaceX, The Boring Company อยู่ในมือ และเป็นเจ้าของแนวคิด Hyperloop อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Neuralink ไม่ใช่บริษัทแรกทั้งสำหรับ Musk และเทคโนโลยีด้านนี้ รวมถึงสิ่งที่เขาจะต้องเผชิญต่อไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก บทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะพยายามฉายภาพเพื่อทำความเข้าใจว่า อะไรคือ Neuralink และสิ่งที่จะต้องเผชิญมีอะไรบ้าง
ที่นี่ไม่ใช่ที่สุดท้าย: เส้นทางของการสร้างบริษัทใหม่ของ Musk
กล่าวกันตามตรง สำหรับหลายคนอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Elon Musk ตัดสินใจสร้างบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ และนี่ก็ไม่ใช่บริษัทแรกของเขา หากนับบริษัทที่เคยร่วมก่อตั้งอย่างเช่น Paypal (บริษัทด้านการรับชำระเงินชั้นนำของโลก) หรือบริษัทของเขาเองในปัจจุบันอย่างเช่น Tesla, SpaceX, The Boring Company เป็นต้น ซึ่งคำศัพท์เฉพาะในวงการธุรกิจเรียกว่า “Serial Entrepreneur” หรือนักธุรกิจที่มีกิจการใหม่ๆ งอกขึ้นมาตามความคิดของตัวเอง และหนึ่งในนั้นคือ Neuralink บริษัทที่เพิ่งแถลงเปิดตัวไปล่าสุดนั่นเอง
แต่ Neuralink ก็ไม่ใช่บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งหรือเปิดตัวในปีนี้ เพราะการแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการยืนยันตัวตนของบริษัท และเสมือนหนึ่งเป็นการเปิดเผยงานและเส้นทางต่อสาธารณะ รวมถึงเชิญชวนให้กลุ่มบุคคลต่างๆ ออกมาทำงานร่วมกันเท่านั้น อันที่จริงแล้วบริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2016 และเริ่มมีข่าวรายงานออกมาตั้งแต่ 2017 รวมถึงรายงานว่า ได้รับเงินทุนสนับสนุนและว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาให้เข้าร่วมในบริษัท เพียงแต่ว่า งานของบริษัทที่ผ่านมา ถูกเก็บงำไว้เป็นความลับมาโดยตลอด และเพิ่งจะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น บริษัทนี้เป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ในสายนี้ ตัวอย่างเช่น Tim Gardner ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ก็เป็นอาจารย์ด้านวิศวกรรมระบบประสาท (Neuroengineering) อยู่ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน
เป้าหมายของบริษัทก็ไม่ต่างอะไรจากบริษัทอื่นๆ ของ Musk ที่ต้องการสร้างอนาคตให้เกิดขึ้น คือการพัฒนาระบบเส้นสื่อประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองของคนเข้ากับชิปคอมพิวเตอร์ และสามารถแปลงความต้องการหรือคำสั่งของสมองออกมาให้กลายเป็นการกระทำได้จริงๆ ผ่านกระบวนการการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทในสมอง (ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Brain-machine interface”) ด้วยเส้นด้ายส่งสัญญาณ (threads) ที่ยืดหยุ่น และรองรับการส่งข้อมูลได้มากกว่า เส้นด้ายนี้จะถูกฝังด้วยหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นเลือดในสมองเป็นการเฉพาะ และจะทำให้ผู้ที่ต้องการฝังเส้นสื่อประสาทลงไป สามารถทำได้อย่างปลอดภัย
ตัวเส้นสื่อประสาทดังกล่าวจะเชื่อมเข้ากับชิปที่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนกะโหลก จากนั้นจะเชื่อมเข้ากับตัวส่งสัญญาณ ซึ่งในจุดนี้จะเป็นการเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ และทำให้มนุษย์สามารถเข้าควบคุมคอมพิวเตอร์ได้ และตอนนี้ก็เริ่มต้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว
ในระยะสั้น การพัฒนานี้จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บทางสมอง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แต่ในระยะยาว กระบวนการดังกล่าวจะทำให้มนุษย์และระบบปัญญาประดิษฐ์ อยู่ร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียว และนั่นน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของ Musk จากการแถลงข่าวของเขาในวันที่เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการสู่สาธารณะ เนื่องจากเขาเป็นคนที่กลัวว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
สำหรับ Musk ที่นี่จึงไม่น่าจะเป็นที่สุดท้ายสำหรับเขาในการสร้างบรัท เพื่อมารองรับความคิดของเขา เพียงแต่เป็นที่ล่าสุดเท่านั้น
ที่นี่ไม่ใช่ที่แรก: มนุษย์กับความพยายามในการผนวกรวมคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว
แม้ในภาพยนตร์สุดล้ำเราจะเห็นมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (หรือหุ่นยนต์) สอดประสาทกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างเช่น The Matrix หรือ Robocop และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วมนุษยชาติเองก็มีความพยายามในการรวมเอาเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์อยู่นานแล้ว
Donna Haraway นักทฤษฎีสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ในงานเขียนชื่อ A Cyborg Manifesto ซึ่งแม้ว่าจุดประสงค์ของเธอมุ่งไปที่การวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการความเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในช่วงยุคสมัยหนึ่ง แต่ภายในงานเขียนนั้นมีส่วนที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือการมองว่ามนุษย์กับเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกันอีกต่อไป และเราต้องจัดการรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงตัวตนที่จะไม่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว (fractured identities) อีกด้วย
และเช่นเดียวกัน ความพยายามของ Musk เองก็ไม่ใช่ความพยายามใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะก่อนหน้านั้นก็เคยมีกรณีที่ผู้ป่วยพิการเป็นอัมพาตจากเหตุอาชญากรรม สามารถใช้สมองตัวเอง สั่งงานคอมพิวเตอร์มาแล้วเมื่อปี 2006 โดยตอนนั้นใช้สั่งการคอมพิวเตอร์เพื่อให้เล่นเกม รวมถึงวาดรูปภาพต่างๆ ตามที่ต้องการได้ กลายมาเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการ และมีการเริ่มต้นศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เพื่อความยุติธรรม ก็ต้องกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการผลิต รวมถึงวัสดุต่างๆ เอง ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการส่งข้อมูลที่มีมหาศาลของสมองไปยังคอมพิวเตอร์ ดังนั้นนวัตกรรมของ Neuralink จึงเป็นเวอร์ชันที่พัฒนาและรองรับคุณสมบัติต่างๆ ให้พ้นไปจากขีดและข้อจำกัดเดิม
และในเวลาใกล้เคียงกัน Neuralink ก็ไม่ใช่บริษัทแรกด้วยที่ทำงานด้านเทคโนโลยีแบบนี้ เพราะในสายนักวิจัย อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก (UCSF: University of California, San Francisco) ก็มีความพยายามในการสร้างสายสื่อประสาทที่มีขนาดเล็กมาแล้ว รวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเอง ก็มีความพยายามในการสร้างสายสื่อประสาทขนาดเล็กเช่นกัน และต่างเผชิญหน้ากับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละแห่งก็พยายามพัฒนาเพื่อเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้อยู่
ดังนั้น Neuralink จึงไม่ใช่ที่แรกที่พัฒนาเรื่องสิ่งเหล่านี้ และก็ไม่น่าใช่ที่เดียวในโลกตอนนี้ด้วย
กล่าวกันอย่างยุติธรรม การแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดหลักชัย (milestone) ที่สำคัญสำหรับบริษัท ไม่ใช่เพราะการประกาศต่อสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเป็นการเปิดฉากอย่างเป็นทางการในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ในมิติที่แคบที่สุด Neuralink จะต้องพบเจอกับด่านปราการที่สำคัญ คือ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA: Food and Drug Administration) ที่จะต้องเปิดทางให้กับการทดลองในคน รวมถึงการใช้งานจริงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเส้นทางที่ยาวนานมาก เพราะขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ นั้น มักจะไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง Matthew MacDougall หัวหน้าศัลยแพทย์ของ Neuralink ก็ออกมายอมรับว่า บริษัทยังไม่ได้ขออนุญาตทดลองเลย
ถ้าถามว่าด่านนี้สำคัญอย่างไร? ก็ต้องตอบว่า มีหลายบริษัทด้านสตาร์ทอัพที่มีปัญหาในลักษณะนี้ เพราะยึดแนวทางที่ว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหรือข้อจำกัดต่างๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดว่าจะมีประเด็นอะไรตามมาบ้าง เช่น Verily บริษัทลูกของ Alphabet (เครือ Google) ที่เคยอยากพัฒนาเลนส์ตรวจวัดน้ำตาลจากน้ำตา แต่ในที่สุดก็ล้มเหลว ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น หรืออย่างเช่นกรณีสำคัญอย่าง Theranos ที่กลายมาเป็นกรณีศึกษา เพราะท้ายที่สุดนอกจากปัญหาว่าเทคโนโลยีใช้จริงได้หรือไม่ ยังมีบทบาทของ FDA ที่ลงมาตรวจสอบและกำกับอย่างจริงจังด้วย
สำหรับมิติขีดจำกัดของวัสดุ Neuralink จำต้องตอบว่า ชิ้นส่วน รวมถึงวัสดุเหล่านี้ สามารถอยู่ได้นานแค่ไหน การบันทึกและส่งข้อมูลต่างๆ สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทดสอบได้ในมิติ 3-6 เดือน หรือกินระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1-2 ปีเท่านั้น
ส่วนคำถามในวงกว้าง สิ่งที่ Neuralink จะต้องตอบในส่วนต่อมาคือเรื่องที่พันกับมิติทางด้านบน นั่นก็คือมิติทางด้านจริยธรรม ไล่ไปตั้งแต่จริยธรรมในการทดลองกับมนุษย์ ผละกรทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงข้อกังวลในมิติทางสังคมรวมถึงศาสนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ละเอียดอ่อน และจะมีผลกระทบอย่างมากในการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้จริง มากกว่านั้นคือการตั้งคำถามต่อตัวเทคโนโลยีและความยั่งยืนในระยะยาวว่า ในท้ายที่สุดแล้วเส้นทางของเทคโนโลยีเหล่านี้จะไปจบอยู่ที่ใด กลายเป็นว่าบริษัทต่างๆ ด้านเทคโนโลยี จะอยู่ครองเหนือร่างกายมนุษย์หรือไม่กันแน่ และนั่นน่าจะเป็นคำถามใหญ่ที่สุด
เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทและเทคโนโลยีเข้าควบคุมมนุษย์ได้มากกว่าที่เราคิดไปมาก ถ้าไม่มีการรองรับและป้องกันที่ดีพอ