เก๋เริ่มทำงานเป็นวิศวกรด้านวิจัยพัฒนาตั้งแต่บริษัทที่ 2 บริษัทแรกเป็นการทำงานด้านการทดสอบ (testing) ทำไปช่วงแรกก็สนุกดี แต่พอทำไปเรื่อยๆเริ่มรู้สึกว่า งานซ้ำเหมือนเดิม เพราะการทดสอบผลิตภัณฑ์จะมีวิธีการที่ต้องทำตามมาตรฐาน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการได้
ต่อมาได้ทำงานใกล้บ้านที่ระยอง ในตำแหน่งวิศวกรวิจัยพัฒนา หลังจากทำงานในส่วนนี้แล้วก็ยึดอาชีพนี้มาตลอดชีวิตที่ทำงานเป็นพนักงานประจำ เพราะชอบที่ได้คิดสร้างสรรค์ หาหนทางใหม่ๆ คิดอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และไม่ซ้ำซากจำเจ รวมๆก้อเกือบ 15 ปี
เมื่อพูดถึงเรื่องการวิจัยพัฒนา หรือนวัตกรรม (Innovation) ในบ้านเราในตอนนี้เท่าที่เก๋เข้าไปสัมผัสในฐานะที่ปรึกษา หลายๆบริษัทส่งเสริมและมีแผนกวิจัยพัฒนากันเป็นเรื่องเป็นราวแล้วต่างกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และบางบริษัทมีการกำหนดให้การคิดสร้างสรรค์ หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรม เข้าไปอยู่ใน core competency ของบริษัทเพื่อให้พนักงานทุกคนได้ตระหนัก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับบริษัท เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว
วันนี้เก๋อยากแชร์ความรู้ด้าน"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่"ที่ทำมาโดยตลอด เพื่อเป็นไอเดียว่า ผลิตภัณฑ์ลักษณะไหน ที่เราจะสามารถสร้างสรรค์หรือพัฒนาขึ้นมาได้ค่ะ
"ผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product)" หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมของธุรกิจให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าเดิม
"ผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product)" สามารถแบ่งลักษณะออกมาได้ 3 แบบ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovated product) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการวิจัยพัฒนา คิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นครั้งแรก และยังไม่มีมาก่อนในตลาด เช่น iPhone รุ่น 1 หรือ iPad รุ่น 1 ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในประเภทนี้ เราเรียกว่า “นวัตกรรม”
2. ผลิตภัณฑ์ปรับปรุงใหม่ (Modified product) หมายถึง ผลิตภัณฑ์เดิมที่มีการปรับปรุงคุณสมบัติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอีกครั้ง เช่น ไอโฟนรุ่น 2-6 ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี การปรับปรุง ผลิตภัณฑ์เดิมของธุรกิจให้มีสมบัติที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
3. ผลิตภัณฑ์เลียนแบบ ( Me-too product) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ของธุรกิจซึ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขันที่มีอยู่แล้วในตลาด เนื่องจากเห็นว่า มีเทคโนโลยีหรือมีความต้องการของตลาดเป็นอย่างสูง ตัวอย่างเช่น หลังจากที่มี smart phone ของค่ายแอปเปิ้ลออกมา เราก็ได้เห็น smart phone อีกหลายค่ายที่ออกมาคล้ายๆกัน ซึ่งในแง่ของผู้ผลิต การมีคู่แข่ง ทำให้ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หากหยุดนิ่งเมื่อไรคู่แข่งก็แซงหน้าไปแล้ว ในแง่ของผู้บริโภค ก็เป็นการดีที่มีการพัฒนาและทางเลือกมากมายคะ
"ผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product)" ยังสามารถแบ่งตามลักษณะความใหม่ในตลาดและในแง่ของบริษัท ได้ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ใหม่ของโลก ( New to the world) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรก มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ใดๆที่มีมาก่อน เพื่อสำหรับเข้าสู่ตลาดใหม่โดยเฉพาะ เช่น Smart phone รถไฟฟ้าของเทสล่า
2. ผลิตภัณฑ์ใหม่ในแง่ของสายผลิตภัณฑ์ใหม่ ( New product lines) หมายถึง สายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นใหม่ของบริษัท และเป็นการเข้าสู่ตลาดเดิมที่มีอยู่เป็นครั้งแรก เช่น “Starbucks” ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมี Core Business อย่างธุรกิจกาแฟที่มีฐานแข็งแกร่งแล้ว ตอนนี้กำลังขยาย“ตลาดเครื่องดื่มชา” “Starbucks Teavana” ออกมา ซึ่งเป็นสายผลิตภัณฑ์ใหม่นอกเหนือไปจากกาแฟที่เป็นจุดแข็งของสตาร์บัคอยู่แล้ว ซึ่งผู้เขียนไปดื่มมาแล้ว รสชาติดีทีเดียว
3. การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าไปในสายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ (Additions to existing product lines) หมายถึง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มเติมเข้าไปในสายผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท ซึ่งมีความใหม่พอสมควรสำหรับกิจการและตลาด เช่น โยเกิร์ตดัชมิลล์ มีหลายแบบให้เลือก เช่น แบบดั้งเดิม รสสตอเบอร์รี่ รสวุ้นมะพร้าว ผลิตภัณฑ์เดิมยังเป็นโยเกิรต์อยู่ แต่เพิ่มแบบและรสชาติใหม่ๆ เป็นต้น
4. ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการลดต้นทุนการผลิต (Cost reductions) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต
5. ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการกำหนดตำแหน่งผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ ( Re positioning) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการนำผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่เข้าสู่ตลาดเป้าหมายใหม่
6. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ (Improvements in revision of existing product) หมายถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมในเรื่องของลักษณะและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ จะคล้ายๆกับผลิตภัณฑ์ปรับปรุงใหม่(Modified product) ที่กล่าวมาแล้ว ในเบื้องต้น ตัวอย่างเดียวกันคือ ไอโฟนรุ่น 2-6 ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี การปรับปรุง ผลิตภัณฑ์เดิมของธุรกิจให้มีสมบัติ ลักษณะ และคุณค่าที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
ตอนนี้หลายๆท่านอาจจะเริ่มเห็นภาพแล้ว ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่มีอะไรบ้าง ถ้าเราจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่ หลายๆบริษัทจะเริ่มด้วย Copy and development คือพอเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ไหนที่น่าจะทำตลาดได้ก็จะเริ่มทำตามแต่มีการพัฒนา ซึ่งเราเรียกว่า " ผลิตภัณฑ์เลียนแบบ ( Me-too product) " แล้วพัฒนาเพิ่มเติมให้มีจุดเด่นของตัวเองเป็น "ผลิตภัณฑ์ปรับปรุงใหม่ (Modified product) " ซึ่งก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะเมื่อผู้บริหารสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว ต่อไปบุคคลากรก็จะเริ่มมีการวิจัยพัฒนา (Research and development) และกลายเป็น "ผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product)" และ "ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovation)" ในที่สุด แต่ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาจึงจะเกิด นวัตกรรมจึงจะได้ในที่สุดค่ะ
..........................
หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง กดอ่าน ที่นี่ ค่ะ.
....................
......................................
Creative to Innovation เป็นพื้นที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกระบวนการและเทคนิคการคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์การทำงานด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ให้คำปรึกษา การสอนด้านการพัฒนานวัตกรรมของผู้เขียน (ศศิมา) ซึ่งเป็นนักพัฒนานวัตกรรมหรือนวัตกร (Innovator) และผันตัวมาแบ่งปัน อบรมสัมมนาให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรม โดยการอบรมสัมมนาจะยึดหลัก 3Fs - Fun (สนุก) -Full (เต็มไปด้วยสาระ) - Friend (มิตรภาพการทำงานเป็น Team Work)
.................................
ศศิมา สุขสว่าง จบการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก Dresden University of Technology (https://tu-dresden.de) ประเทศเยอรมนี ทำงานด้าน Research & Development Engineer และนักวิจัยมาโดยตลอด จนได้มาเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของ THTI กว่า 15 ปี และได้รับการอบรมด้านโค้ชทั้ง Mindfulness Coaching, Life Coach , Talent Coach และ NLP Coaching จากสถาบันสอนการโค้ชที่ได้รับการรับรองระดับสากล ปัจจุบันศศิมาเป็น วิทยากร ที่ปรึกษา และ Innovation Coach ที่มีความสุขและมุ่งมั่นที่แบ่งปันเรื่องพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างคุณค่าให้ผู้คน